เดนมาร์ก-ฟินแลนด์-นิวซีแลนด์ แชมป์คอร์รัปชันน้อยสุด ไทยแต้มลด-อันดับหล่น

“เดนมาร์ก-ฟินแลนด์-นิวซีแลนด์” ครองแชมป์ดัชนีคอร์รัปชันน้อยสุดในโลก ขณะที่ไทยได้คะแนนลดลง 1 คะแนน อันดับตกลง 6 อันดับ

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.) เวลาประมาณ 12.00 น. ตามเวลาประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีดัชนีคอร์รัปชันน้อยที่สุดในโลก โดยทั้งสามประเทศได้คะแนน 88 จาก 100 คะแนน ส่วนไทยได้ 35 คะแนน (ปีก่อนได้ 36 คะแนน) ตกจากอันดับ 104 ไปอยู่อันดับที่ 110 ขณะที่ในภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีดัชนีคอร์รัปชันน้อยที่สุดในภูมิภาค โดยอยู่อันดับ 4 ของโลก ตามด้วย ฮ่องกงอันดับ 12 (76 คะแนน) ญี่ปุ่น อยู่ที่อันดับ 18 (73 คะแนน) เป็นต้น

สถิติคะแนน CPI ของไทยประจำปี 2564 หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 6 จากทั้งหมด 11 ประเทศ โดยประเทศที่ได้อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ 85 คะแนน ถัดมาเป็นมาเลเซีย 48 คะแนน ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน เวียดนาม 39 คะแนน อินโดนีเซีย 38 คะแนน และไทย 35 คะแนน

ลำดับถัดจากนั้น คือ ฟิลิปปินส์ 33 คะแนน ลาว 30 คะแนน เมียนมา 28 คะแนน กัมพูชา 23 คะแนน ขณะที่ บรูไน ไม่มีการระบุข้อมูลคะแนนของปี 2564

แหล่งข้อมูลของดัชนี CPI ของไทยในปี 2564 ที่ใช้ในการประเมินมีทั้งสิ้น 9 แหล่ง จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน พบว่า

1. IMD WORLD หรือคะแนนในส่วนการติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ และมากน้อยเพียงใดอยู่ที่ 39 คะแนน ลดลง 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 41 คะแนน

2. BF (TI) หรือการปาบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563

3. EIU หรือความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ได้ 37 คะแนน เท่ากับปี 2563

4. GI หรือการดำเนินการทางธุรกิจ ต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน เท่ากับปี 2563

5. PERC หรือระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด ได้ 36 คะแนน ลดลง 2 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน

6. PRS หรือการมีอำนาจหรือตำแหน่งทางการเมือง มีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ และระบบเครือญาติ และภาคการเมืองกับภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด ได้ 32 คะแนน เท่ากับเมื่อปี 2563

7. WEF หรือภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ได้ 42 คะแนน ลดลง 1 คะแนนเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 43 คะแนน

8. WJP หรือเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน ลดลงมากที่สุดถึง 3 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้ 38 คะแนน

9. V-DEM หรือการทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ เกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม มากน้อยเพียงใด ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 6 คะแนน โดยได้ 26 คะแนน หากเทียบกับปี 2563 ที่ได้เพียง 20 คะแนน

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สรุปว่า

  • แหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มี 1 แหล่งข้อมูล คือ V-DEM
  • แหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนเท่ากับปีก่อน มี 4 แหล่งข้อมูล ได้แก่ BF (TI), EIU, GI และ PRS
  • แหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนลดลงจากปีก่อน มี 4 แหล่งข้อมูล ได้แก่ IMD, PERC, WEF และ WJP
Next Post

Toyota Announces Adjustments to Domestic Production in January and in February, as of January 26

Toyota City, Japan, Jan 26, 2022 – (JCN Newswire via SEAPRWire.com) – Due to the shortage of parts supply caused by the spread of COVID-19 at our supplier in Japan, on January 21 we announced additional suspensions of domestic plant production for completed vehicles (Adjustments to Domes […]