หวิดช็อก! ราชกิจจาฯ เผยหนี้สาธารณะพุ่งปรี๊ด 9.3 ล้านล้าน เกือบแตะ 60% ของจีดีพี

กระทรวงการคลังรายงานสถานะหนี้สาธารณะ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 มีจำนวนกว่า 9.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 58% ของจีดีพี

เมื่อวานนี้ (29 พ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 และรายการการกู้เงินและค้ำประกัน ระหว่างเดือนเมษายน 2564 ถึงเดือนกันยายน 2564 โดยมีเนื้อหาว่า

ด้วยพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 วรรคสอง กำหนดให้กระทรวงการคลังสรุปรายงานสถานะของหนี้สาธารณะและประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในหกสิบวันหลังจากวันสิ้นเดือนมีนาคมและเดือนกันยายนของทุกปี โดยรายงานดังกล่าวต้องแสดงหนี้สาธารณะที่เกิดจากการกู้เงินและค้ำประกัน ณ วันสิ้นเดือนดังกล่าว รวมทั้งรายการการกู้เงินและค้ำประกันที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม และเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายนตามลำดับ

กระทรวงการคลังขอรายงานสถานะหนี้สาธารณะ ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 และรายการการกู้เงินและค้ำประกัน ระหว่างเดือนเมษายน 2564 ถึงเดือนกันยายน 2564 ดังนี้

1. รายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2564

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีจำนวน 9,337,543.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 58.15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) โดยเป็นหนี้รัฐบาล จำนวน 8,203,698.67 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 845,639.91 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อ (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 281,041.62 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 7,162.82 ล้านบาท

หนี้สาธารณะแบ่งตามอายุเงินกู้คงเหลือจะเป็นหนี้ระยะยาวซึ่งเป็นหนี้ที่จะครบกำหนดชำระเกินกว่า 1 ปี จำนวน 8,069,514.98 ล้านบาท หรือร้อยละ 86.42 และหนี้ระยะสั้นที่จะครบกำหนดชำระภายในไม่เกิน 1 ปี จำนวน 1,268,028.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.58 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะคงค้าง จำนวนทั้งสิ้น 9,337,543.02 ล้านบาท ประกอบด้วยหนี้ต่างประเทศ จำนวน 168,390.72 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.80 และหนี้ในประเทศ จำนวน 9,169,152.30 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.20 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

  • สามารถติดตามอ่านประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าว ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 17 หน้า ได้ที่นี่

ในขณะที่วันนี้ (30 พ.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ และรายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ณ วันสิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 ก.ย. 64) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มีรายละเอียดดังนี้

1. รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริง ณ 30 ก.ย. 64 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด คือ

(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 58.15% ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ 70% (เพิ่งขยายเพิ่มจาก 60%)

(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ 32.27% ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ 35% (เพิ่งขยายเพิ่มจาก 30%)

(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด 1.80% ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ 10%

(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ 0.06% ไม่เกินกรอบที่กำหนดคือ 5%

2. รายงานสถานะหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง สถานะหนี้คงค้าง

สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง มีจำนวน 9.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 58.15% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าจำนวน 1.49 ล้านล้านบาท สาเหตุที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ คือ

1) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ

2) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564

สำหรับสถานะหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 มีรายละเอียด ดังนี้

(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 7,504,214.24 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.73% ต่อ GDP

(2) หนี้รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 699,484.43 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.36% ต่อ GDP

(3) หนี้ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 845,639.91 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.27% ต่อ GDP

(4) หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 281,041.62 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.75% ต่อ GDP

(5) หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 7,162.82 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.04% ต่อ GDP

สำหรับหนี้เงินกู้คงค้างของหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย

(1) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. จำนวน 1.20 แสนล้านบาท

(2) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน เช่น เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 5.90 แสนล้านบาท

(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,850 แห่ง มีจำนวน 3.65 หมื่นล้านบาท

(4) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีจำนวน 4.61 ล้านบาท

ส่วนความเสี่ยงทางการคลังยังอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด โดยหนี้ส่วนใหญ่ 84.11% เป็นหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนเมื่อถึงกำหนด

ส่วนหนี้ที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรงนั้น หน่วยงานจะเป็นผู้รับภาระการชำระหนี้ โดยใช้แหล่งรายได้อื่นที่ไม่ใช่งบประมาณมาชำระหนี้ สำหรับหนี้เงินกู้ของหน่วยงานรัฐที่ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ไม่มีผลกระทบต่อภาระทางการคลัง เนื่องจากเป้นหน่วยงานที่มีสถานะการดำเนินงานที่มั่นคงและมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้เงินกู้เองได้

Next Post

ศาลให้ประกัน "รุ้ง ปนัสยา" ถึง 12 ม.ค. 65 สั่งติดกำไล EM ห้ามออกจากบ้าน 24 ชม.

ศาลให้ประกัน “รุ้ง ปนัสยา” ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 12 ม.ค. 2565 พร้อมกำหนดเงื่อนไขประกัน 5 ข้อ ห้ามออกจากบ้าน 24 ชม. ยกเว้นไปสอบ-หาหมอ-ไปตามนัดพิจารณาคดี วันนี้ (30 พ.ย.64) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันนี้ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่ […]