“มาดามเดียร์” ดักคอรัฐบาล ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว เห็นแก่ประชาชน อย่าเล่นเกมการเมือง

“มาดามเดียร์” ดักคอรัฐบาล ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว เห็นแก่ประชาชน อย่าเล่นเกมการเมือง

หลังจากคณะรัฐมนตรีเลื่อนพิจารณาการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ BTS เนื่องจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานที่จะส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาทและต้องการให้รัฐบาลบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเอง จึงยื่นใบลาไม่เข้าประชุม ครม. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนพร้อมนำเสนอต่อที่ประชุมใหม่อีกครั้ง

จากนั้น วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตการประชุม ครม. ของพรรคภูมิใจไทย ทำให้ ณัฏฐ์ชนนท์ ศรีก่อเกื้อ ส.ส. สงขลา และรองโฆษกพรรคภูมิใจไทยออกมาแถลงตอบโต้ว่าไม่ใช่เรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติต้องมาล้วงลูกฝ่ายบริหาร

วทันยา หรือ มาดามเดียร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว News ถึงกรณีนี้ว่า ตนเป็นคนกรุงเทพฯ ย่อมเข้าใจปัญหาและต้องรักษาสิทธิของตน เนื่องจากการเตะถ่วงเวลากรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวทำให้ชาว กทม. ต้องเสียประโยชน์ ดอกเบี้ยค่าก่อสร้างทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายและค่าดำเนินการเดินรถที่เพิ่มขึ้นทุกวันสุดท้ายจะตกมาเป็นภาระของชาว กทม. อยู่ดี ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะรัฐต้องใช้ภาษีของประชาชนจ่ายหนี้เหล่านี้อยู่ดี อีกทั้งหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติก็คือการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร เมื่อตนเห็นว่าการทำงาน ครม. ที่เป็นแกนกลางในการบริหารประเทศต้องสะดุดเพราะรัฐมนตรีบอยคอตการประชุม มันเป็นปัญหาที่ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ไม่ใช่แค่ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ยังมีวาระอื่นที่รอการพิจารณาจาก ครม.

“แต่การที่เราไม่ตัดสินใจเลยแล้วปล่อยให้ปัญหามันทบต้นบานปลาย อันนี้คือสิ่งที่ผิดพลาดที่สุด…ครม. ก็คือวงประชุมที่เป็นหัวใจหลักแกนกลางบริหารประเทศ แล้วพี่ถามคำเดียวว่ารัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของประชาชน แล้วรัฐมนตรีไม่เข้าประชุม เลือกที่จะบอยคอต แล้วอีกหน่อยประเทศมันจะดำเนินต่อไปยังไง” วทันยา กล่าว

วทันยา อธิบายต่อว่า รถไฟฟ้าในส่วนที่เป็นไข่แดง คือ เฟสแรกตั้งแต่หมอชิตถึงแบริ่ง (กทม.ร่วมกับบีทีเอส) และส่วนต่อขยายที่เป็นปัญหาคือตั้งแต่หมอชิตถึงสะพานใหม่-คูคต และตั้งแต่แบริ่งไปจนถึงการเคหะฯ ซึ่งทำโดย รฟม. และโอนมาให้ กทม. ซึ่งรวมทั้งภาระหนี้ค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายและดอกเบี้ยด้วย รวม 69,105 ล้านบาท และค่าจ้างเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณ รวมดอกเบี้ย 37,000 ล้านบาท ที่บีทีเอสดำเนินการให้เองมาตลอด กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอแนวทางให้ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนไข่แดงและส่วนต่อขยายเป็นเวลา 30 ปี (ตั้งแต่ 2572-2602), ควบคุมค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ตลอดสายตั้งแต่คูคตถึงการเคหะฯ และแบ่งสัดส่วนรายได้ให้ กทม. ที่คาดว่า กทม. จะได้รับประมาณ 2 แสนล้านบาท แลกกับการให้บีทีเอส แบกรับภาระหนี้สินของ กทม. ทั้งหมด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการที่ไม่ตัดสินใจ หรือเตะถ่วงให้ล่าช้า ไม่เลือกทางใดทางหนึ่งจะยิ่งทำให้ดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้นตกเป็นภาระของประชาชนที่รัฐบาลต้องเอาภาษีไปจ่าย หรือค่าโดยสารที่ราคาแพง เพราะหากดูจากค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายจาก 55,703 ล้านบาท แต่ดอกเบี้ยตอนนี้วิ่งไป 13,401 ล้านบาทแล้ว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องแก้ปัญหาแล้ว หรือหากไม่เห็นด้วยก็ต้องเข้ามาถกกันว่าไม่เห็นด้วยตรงไหน หรือค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาทที่คิดว่าแพงไปควรแก้ไขอย่างไร เช่น รัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่งเพื่อลดค่าโดยสาร หรือให้สัมปทานพื้นที่โดยรอบทางรถไฟเพื่อลดต้นทุน หรือลดรายได้ที่ต้องจัดเก็บให้ กทม. ลงไป เป็นต้น ไม่ใช่ไม่เข้าประชุม

“มันไม่ใช่ ไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ไม่เห็นด้วยแล้วก็ดันเรื่องเตะถ่วงเรื่องออกไปเพราะว่าเวลาที่มันผ่านไปแต่ละวัน แต่ละวินาทีมันคือดอกเบี้ยที่มันทบต้นทบดอกที่มันวิ่งอยู่ทุกวัน มันไม่ถูกจ่ายมาเป็นภาษีของเราทางตรง ก็ต้องถูกรวมมาเป็นค่าโดยสารของเราอีกอยู่ดี” วทันยา กล่าว

ส่วนตัวไม่ติดใจว่าจะใช้หนี้บีทีเอสแล้วเปิดประมูลใหม่ หรือขยายสัมปทานต่อ แต่สำคัญคือประชาชนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด คือต้องได้บริการที่ได้มาตรฐานแล้วก็ราคาที่เป็นธรรมย่อมเยาไม่สร้างภาระให้กับประชาชนจนเกินไป ทั้งนี้ในการดำเนินการต้องมีความโปร่งใส โดยเฉพาะ การกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ใช่เปิดประมูลไป แต่สุดท้ายการแล้วกำหนด TOR หรือรูปแบบการแข่งขันมีการทุจริต คอร์รัปชั่นเกิดขึ้น หรือมีการกำหนด TOR เพื่อเอื้อเอกชนบางรายถาม มันก็ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์อยู่ดี

Next Post

The Glimpse Group Announces the Launch of Glimpse Australia

SYDNEY, Feb 14, 2022 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – The Glimpse Group (“Glimpse”), a diversified, Nasdaq listed, Virtual Reality and Augmented Reality (“VR and “AR”) platform company providing enterprise-focused VR and AR software and services solution […]