หยุดสงกรานต์แรงงานต่างด้าวอดกลับบ้าน ชี้ ไทยยังปิดประเทศ จนท.ยังเข้มชายแดน
พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่าแรงงานต่างชาติ 3 สัญชาติ (ลาว พม่า และกัมพูชา) ในช่วง หยุดสงกรานต์ ปี 64 ยังไม่อนุญาตให้เดินทางกลับประเทศ เพราะยังถือว่าไทยยังปิดประเทศอยู่หากพบว่ามีการลักลอบเดินทางออกนอกประเทศก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ยกเว้นแรงงานที่มีคดีและได้รับโทษถูกส่งมาอยู่ห้องกัก ทาง สตม.ก็จะผลักดันกลับประเทศ ส่วนการป้องกันตามแนวชายแดนจนถึงขณะนี้ ฝ่ายความมั่นคงทหาร ปกครองยังซีลพรมแดนเข้มงวด ส่วนจังหวัดที่มีมาตรการผ่อนคลาย ก็อนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนในจังหวัดได้
สำหรับจังหวัดที่ยังมีข้อกำหนดเรื่องห้ามย้ายแรงงานและห้ามชุมนุมมั่วสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร, กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, นนทบุรี และจังหวัดนครปฐม ส่วนที่แรงงานเมียนมาที่พบว่ามีการชุมนุมที่สถานทูตเมียนมาและหน้าองค์การสหประชาติ(UN)ก่อนหน้านี้ ตำรวจก็มีมาตรการดูแลแก้ไขตามสถานการณ์ ขณะเดียวกันมีการแจ้งไปยังนายจ้างและแรงงานให้ทราบว่าการชุมนุมในช่วงนี้ผิดกฎหมาย
โฆษก สตม.กล่าวอีกว่า ยังไม่พบข้าราชการตำรวจสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่มีการระบาดรอบสอง ส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดและทางผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญและลงพื้นที่ดูแลการปฏิบัติ
ต่างด้าวแน่นห้องกักตม.สวนพลู 2พันกว่าคน เปิดโอกาสนายจ้างประกันรับกลับไปทำงาน
พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า หลังรัฐบาลเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย มาขึ้นทะเบียนแสดงตัวตนและจะได้ใบอนุญาตอย่างถูกต้อง พบว่ามีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนแล้วราว 650,000 คน ผ่านการตรวจโควิด-19 ถูกบันทึกข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล(ระบบไบโอเมตริก)แล้ว 2 แสน โดยวันสุดท้ายจะต้องมาขึ้นทะเบียนและตรวจโควิด-19 ภายในวันที่ 16 เมษายนนี้
มาตรการดังกล่าว ตม.ได้ประสานข้อมูลกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทย ทำให้ในอนาคตจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานทั้งหมดในประเทศ อาทิ แรงงานตามฤดูกาล, แรงงานตามบ้าน ตลอดจนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการประมงต่างๆ
โฆษก สตม.กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่ทำผิดกฎหมายที่รับโทษและอยู่ในห้องกัก ที่ไม่ใช่ความผิดคดีอาชญากรรมยาเสพติดร้ายแรง และไม่ผิดเงื่อนไข ได้เปิดโอกาสให้นายจ้างเก่ามาประกันตัวเพื่อนำกลับไปทำงานได้ เพื่อเป็นการแก้ไขแรงงานขาดแคลนและช่วยลดค่าใช้จ่าย(งบประมาณของรัฐบาล) ที่ใช้ดูแลเรื่องค่าอาหารตลอดจนค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยด้วย
ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติในห้องกักที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.สวนพลู)เกือบ 2พันคน ซึ่งมากกว่าช่วงที่ไม่มีโควิดเล็กน้อย อย่างไรก็ดีในระหว่างที่อยู่ในห้องกัก ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลอยู่แล้ว