นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Global Clean Energy (SCB Global Clean Energy : SCBCLEAN) มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เริ่มเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 2 – 8 มีนาคม 2564 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการโอกาสในการในการสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นส่วนร่วมของการเปลี่ยนแปลงโลกไปกับเทรนด์พลังงานทดแทนเพื่ออนาคต
การใช้พลังงานทดแทน นับว่าเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างจับตามองและให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาวะโลกร้อนอันเกิดจากการใช้แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมอย่างพลังงานน้ำมัน พลังงานถ่านหิน และพลังงานก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้ากับปัญหาสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอุณหภูมิโลกอย่างรวดเร็ว การเกิดไฟป่าที่ลุกลามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงฤดูหนาวในบางประเทศที่ยาวนานและรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ทำให้หลายประเทศเริ่มมองหาทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากแหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมมาเป็นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่จากแหล่งพลังงานที่แตกต่างออกไป โดยปัจจัยที่ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงถึง 9 พันล้านคนในปี 2035 ทำให้มีความต้องการพลังงานมากขึ้นถึง 40% โดยเฉพาะในปี 2561 ที่ผ่านมา มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นกว่า 2% นอกจากนี้ ผู้นำรัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างก็ให้ความสนใจพร้อมทั้งให้การสนับสนุนและผลักดันการใช้พลังงานทดแทนนี้อย่างจริงจัง ซึ่งจากปัจจัยข้างต้นทำให้นำมาสู่โอกาสการลงทุนอย่างยั่งยืนในธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่มีมูลค่าสูงถึง 29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในกว่า 30 ปีข้างหน้า
กองทุน SCBCLEAN เป็นกองทุนบริหารเชิงรุก ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้ แก่ BNP Paribas Energy Transition (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) I Capitalisation ในสกุลเงินยูโร โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บริหารโดย BNP Paribas Asset Management จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS ทั้งนี้ กองทุนหลักเน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ผสานกลยุทธ์การลงทุนแบบ Top-down และ Bottom-up เพื่อเฟ้นหาหุ้นที่เป็น Best Idea ทั้งยังเน้นพอร์ตการลงทุนที่มีความเชื่อมั่นสูง (high-conviction) ประมาณ 30 – 50 ตัว ไม่ยึดติดน้ำหนักการลงทุนกับดัชนีอ้างอิง กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน
- ทิพยประกันภัย สร้างประวัติศาสตร์ กำไรปี 63 ทะลุ 2 พันล้าน
- ประกันภัยไทยวิวัฒน์ปิดปี 63 เบี้ยรับรวมนิวไฮพุ่งเฉียด 6 พันล้าน
สำหรับกระบวนการการลงทุนของกองทุนหลัก จะทำความเข้าใจถึงภาพรวม แนวโน้ม ทิศทางของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดธีมในการลงทุนออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) พลังงานทดแทนและผู้ผลิต 2) เทคโนโลยีด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น ผู้ผลิตเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมด้านพลังงานทดแทน และ 3) โครงสร้างพื้นฐาน และการจัดเก็บ เช่น ผู้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งที่ใช้พลังงานทดแทน และทำการเฟ้นหาไอเดียการลงทุนที่ดีที่สุด โดยให้ความสำคัญในด้านสภาพคล่อง และตัวเลขทางงบการเงินของธุรกิจ พร้อมทั้งวิเคราะห์เชิงลึกรายตัว ด้วยโมเดลการวิเคราะห์มูลค่าที่หลากหลาย และให้น้ำหนักการลงทุนโดยคัดเลือกจากความเชื่อมั่นในตัวหุ้น, Risk/Reward และค่าสหสัมพันธ์ของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ตลงทุน นอกจากนี้ กองทุนหลักบริหารโดยทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การลงทุนเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมยาวนานกว่า 20 ปี ทั้งนี้ กองทุนหลักมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 167.30% เทียบกับดัชนีอ้างอิง MSCI All Country World Index อยู่ที่ 6.65% ในสกุลยูโร (ที่มา: Factsheet จาก BNP Paribas Energy Transition ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563)
“การใช้พลังงานทดแทนนับว่าเป็นเทรนด์ที่ได้รับการตอบรับและการสนับสนุนในระดับสากล โดยได้รับแรงสนับสนุนในเป้าหมายระยะยาวจากเหล่าผู้นำโลก อาทิเช่น สหรัฐฯ กรณีที่ประธานาธิบดี ไบเดน ได้มีการกลับเข้ามาร่วมข้อตกลง Paris Agreement เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีการลงนามจาก 196 ประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ในส่วนของยุโรปได้มีแผนนโยบายที่เรียกว่า European Green Deal โดยสนับสนุนให้สหภาพยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ผ่านแคมเปญและข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังมากยิ่งขึ้น ในส่วนของฝั่งยักษ์ใหญ่อย่างจีนนั้น ได้แสดงจุดยืนและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนกว่า 65% ภายในปี พ.ศ. 2573 และผลักดันเป้าหมายใหม่ในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ภายในประเทศให้ได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ ในส่วนของตลาดการลงทุนเองก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าธุรกิจกลุ่มนี้น่าจะได้รับประโยชน์ในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโอกาสต่อยอดการลงทุนไม่ได้จำกัดอยู่ที่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตพลังงานทางเลือกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทที่มีการออกแบบซอฟต์แวร์เพื่อช่วยวิเคราะห์และพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูงสุดดังนั้น จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนที่กำลังจับตาเทรนด์การเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว